รู้จักบรูไน
ซาลามัต ดาตัง สวัสดีบรูไน
บรูไนเป็นประเทศมุสลิม จัดระเบียบสังคมตามข้อบัญญัติของศาสนาอย่างเคร่งครัด วิถีการดำเนินชีวิตของประชากรจึงเป็นไปตามหลักศาสนาอีสลาม ด้านความเป็นอยู่นั้นสะดวกสบาย เนื่องจากเป็นประเทศที่ร่ำรวย รัฐมีเงินดูแลประชากรในเรื่องปัจจัยพื้นฐานเป็นอย่างดี คนบรูไนส่วนใหญ่จึงไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจมากนัก และส่วนใหญ่มีรถส่วนตัวใช้ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีเชื้อสายมลายูร้อยละ 66.3 เชื้อสายจีนร้อยละ 11.2 ชนพื้นเมืองอื่นๆ ร้อยละ 3.4 และชนชาติอื่นๆ ร้อย 19.1
ประชากรเชื้อสายมลายูประกอบด้วยชนเผ่าพื้นเมือง 7 เผ่า ดังนี้
1. ชาวมลายูบรูไน (Melayu Brunei) เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุด บางส่วนยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย ภาษาพูดมีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
2. ชาวเกอดายัน (Kedayan) ชาวเกอดายันอาศัยอยู่ในประเทศบรูไน และรัฐซาบาห์ รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย เชื่อกันว่าชนชาวพื้นเมืองนี้ควรเชื้อสายของชาวชวา (ประเทศอินโดนีเซีย) กับชาวมลายูบรูไน จากการที่ชาวชวาเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในบรูไน และได้แต่งงานสืบเชื้อสายกับชาวมลายูบรูไน
3. ชาวเบไลต์ (Belait) ชาวเบไลต์ส่วนใหญ่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเบไลต์มีภาษาเบไลต์เป็นภาษาพูดของตนเอง
4. ชาวดูซุน (Dusun) เป็นกลุ่มชนที่ใหญ่ที่สุดของรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศบรูไน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และมีบางส่วนที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวดูซุนมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม
5. ชาวตูตง (Tutong) ชาวตูตงส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่เขตตูตง มีภาษาพูดเป็นของตนเอง ภาษาตูตง
6. ชาวบีซายา (Bisaya) เป็นชนพื้นเมืองฝั่งทะเล ด้านตะวันตกของเกาะเบอร์เนียวว่ากันว่า ชื่อบีซายาเพี้ยนมาจาก คำว่า Mabisa lya หมายถึง ผู้ชายหรือผู้หญิงที่สง่างาม
7. ชาวมูรุต (Marut) มีถิ่นอาศัยอยู่ทั้งสามประเทศบนเกาะเบอร์เนียว
ภาษา
บรูไนใช้ภาษามลายู (Bahasa Melayu) เป็นภาษาราชการ (เหมือนกับประเทศมาเลเซีย) ส่วนภาษาอังกฤษและภาษาจีนก็นิยมใช้กันเป็นอันดับรองลงมา
ศาสนา
ศาสนาประจำชาติของบรูไน คือ ศาสนาอิสลาม ชาวบรูไนนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 67 ศาสนาพุทธร้อยละ 13 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 10 และอื่นๆ ร้อยละ 10
กฎกติกาก่อนเข้าศาสนสถาน
1. ถอดรองเท้าก่อนเข้าศาสนสถานทุกครั้ง ผู้ที่ไม่ใช่คนมุสลิมควรเดินในบริเวณที่จัดให้เท่านั้น
2. ผู้หญิงที่ไม่ใช่มุสลิมต้องสวมชุมคลุมยาวสีดำที่ศาสนสถานจัดเตรียมไว้ให้ก่อนเข้าไปข้างในทุกครั้ง
3. ห้ามถ่ายรูปในศาสนสถาน
ระบบการศึกษา
บรูไนไม่มีการศึกษาภาคบังคับ แต่รัฐจะให้การศึกษาแก่ประชาชน เพื่อมุ่งพัฒนาให้มีความสามารถด้านสติปัญญาและมีความสุข และให้เรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ระดับการศึกษาแบ่งออกเป็น
• ระดับก่อนประถมศึกษา หลักสูตร 1 ปี รับสมัครเด็กอายุ 5 ขวบ
• ระดับประถมศึกษา หลักสูตร 6 ปี
• ระดับมัธยมศึกษา หลักสูตร 7-8 ปี โดยแบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 2-3 ปี และเตรียมอุดมศึกษา 2 ปี
• ระดับอุดมศึกษา หลักสูตร 3-4 ปี
บรูไนใช้ทั้งภาษามลายูและภาษาอังกฤษสอนเด็กตั้งแต่ชั้นประถม-ศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป โดยใช้ภาษามลายูสอนวิชาความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามพลศึกษา ศิลปะ ส่วนภาษาอังกฤษใช้สอนวิชาหลักอย่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น