ทำความรู้จักทิเบต ดินแดนสวรรค์บนหลังคาโลก
ทิเบต ดินแดนแห่งหลังคาของโลก สถานที่อันเต็มไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาสูงตระหง่าน หิมะขาวบริสุทธิ์ หรือสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาอันงดงาม ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ราบสูงอันประกอบด้วยภูเขาและทะเลสาบมากมาย รวมถึงสภาพอากาศที่เย็นสบายและความกดอากาศต่ำตลอดทั้งปี ทิเบตจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้ที่รักการท่องเที่ยว
ทิเบต หรือที่รู้จักในชื่อเต็มว่า เขตปกครองตนเองทิเบต ตั้งอยู่ใจกลางทวีปเอเชีย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เขตนี้มีพื้นที่ติดต่อกับมณฑลต่าง ๆ ของจีน รวมถึงประเทศภูฏานและเนปาล เมืองหลวงของทิเบตคือ ลาซา (Lhasa) ซึ่งเป็นเขตปกครองที่มีพระเป็นผู้นำและประชาชนในพื้นที่นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน
ทิเบตมีพื้นที่รวมประมาณ 1,200,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 7 จังหวัดหลัก ดังนี้
- ลาซา (Lhasa) เมืองหลวง
- น่าชูตี้ชู (Nagchu Prefecture)
- ชางตูตี้ชู (Chamdo Prefecture)
- หลินจือตี้ชู (Nyingtri Prefecture)
- ชานหนานตี้ชู (Shannan Prefecture)
- ลื่อคาเสอตี้ชู (Shigatse Prefecture)
- อาหลี่ตี้ชู (Ngari Prefecture)
ภูมิประเทศและภูมิอากาศของทิเบต
ทิเบตตั้งอยู่บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ซึ่งเป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงเฉลี่ยเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 4,000 เมตร จึงได้รับฉายาว่า "หลังคาของโลก" (The Roof of the World) พื้นที่ส่วนใหญ่ของทิเบตประกอบด้วยเทือกเขาที่มียอดเขาปกคลุมด้วยหิมะขาวตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีภูมิอากาศหนาวเย็นอย่างมาก และมีระดับความกดอากาศและออกซิเจนที่ต่ำ
สภาพแวดล้อมของทิเบต
ทิเบตได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกประจำปี 2019 ด้วยระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่มีเสถียรภาพและสมบูรณ์อย่างสูง พื้นที่นี้แทบจะไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเลย ในปี 2019 ทิเบตได้จัดตั้งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติจำนวน 47 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 34.35% ของพื้นที่ทั้งหมดในทิเบต
ประวัติศาสตร์ของทิเบต
ในช่วงศตวรรษที่ 7 ทิเบตเริ่มมีร่องรอยของอาณาจักรอิสระที่มีเมืองลาซาเป็นเมืองหลวง โดยในช่วงนั้น ลัทธิโบน (Bonism) ซึ่งเป็นลัทธิพื้นเมืองเก่าแก่ของทิเบต มีการบูชาสวรรค์ เทวดา และต้นไม้ หลังจากนั้น ทิเบตเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง และเริ่มมีการศึกษาและนำเทคโนโลยีทางการผลิต ผลงานทางการเมือง และวัฒนธรรมที่ทันสมัยมาปรับใช้
ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทิเบตก็ได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีน แต่ความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมและกฎข้อห้ามในการนับถือศาสนาในทิเบต ต่อมา ประเทศจีนประกาศให้ทิเบตเป็นเขตการปกครองตนเอง โดยมีระบบการปกครองแบบเดิมที่มีองค์ดาไลลามะเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตาม การปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ของจีนก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ในพื้นที่นี้
อาหารทิเบตที่น่าลิ้มลอง
อาหารทิเบตมีความหลากหลายที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเมนูจีนและเครื่องเทศจากอินเดียเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะใช้พืชไร่ เช่น ข้าวบาเลย์และผลไม้ที่ปลูกในระดับความสูง เช่น กล้วย ส้ม และเลมอน โดยมีอาหารหลักที่นิยมรับประทานกันดังนี้:
- แซมปา (Tsampa) อาหารประจำชาติของทิเบต ทำจากแป้งโม่ข้าวบาเลย์ ซึ่งบางครั้งอาจใช้ข้าวสาลีหรือข้าวแทน มักจะผสมกับชาเนยแบบทิเบตที่มีรสเค็ม และรับประทานคู่กับโยเกิร์ตจากนมจามรี
- บาเลบ (Balep) ขนมปังที่นิยมรับประทานเป็นมื้อเช้าหรือมื้อกลางวัน มีทั้งแบบที่ใส่ไส้และไม่มีไส้
- ทุกปา (Thukpa) ก๋วยเตี๋ยวแบบทิเบตที่นิยมรับประทานในมื้อเย็น คล้ายกับพาสตา มีผักและเนื้อสัตว์ในน้ำซุป
- โมโม (Momo) เกี๊ยวหรือขนมจีบที่มีต้นกำเนิดในทิเบต ตัวแป้งบางและเนื้อนุ่ม ไส้ด้านในทำจากเนื้อสัตว์หลากหลายชนิด เช่น แพะ กระบือ ไก่ หมู และจามรี ปรุงรสด้วยหอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม และผักชี นิยมกินกับซอสหรือน้ำจิ้มที่มีพริก มะเขือเทศ และกระเทียม
- ชาเนยจามรี เครื่องดื่มที่ชาวทิเบตนิยมดื่มตลอดทั้งวัน เพื่อสร้างความอบอุ่นในสภาพอากาศหนาวเย็น ชาเนยยังช่วยแก้อาการแพ้ในที่ราบสูงและป้องกันริมฝีปากแห้งแตก
รู้ไว้ก่อนไปเที่ยวทิเบต
- การเดินทาง ไม่มีสายการบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังทิเบต นักท่องเที่ยวจะต้องบินไปยังสนามบินใกล้เคียงในประเทศจีน เช่น คุนหมิง เฉิงตู กวางเจา ปักกิ่ง ฉงชิ่ง หรือซีอาน จากนั้นจึงต่อเครื่องไปยังท่าอากาศยานลาซา-กุงข่า ซึ่งตั้งอยู่ในนครลาซา
- การเดินทางโดยรถไฟ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถไฟจากเมืองเฉิงตู ประเทศจีน มายังลาซา การเดินทางด้วยรถไฟช่วยให้ร่างกายได้ปรับตัวกับความสูงและความกดอากาศที่ต่ำในพื้นที่สูง
- ยาที่ควรพกติดตัว ควรพกยาป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากการขึ้นที่สูง เช่น ยาที่ช่วยกระตุ้นการหายใจและยาที่ช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้เร็วขึ้นเมื่ออยู่ในพื้นที่สูง
- สภาพอากาศ ฤดูร้อนในทิเบต (เดือนมีนาคม-เมษายน) อุณหภูมิจะอยู่ที่ 15-22 องศาเซลเซียส ขณะที่ฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) อุณหภูมิอาจลดลงต่ำถึง -2 องศาเซลเซียส
- สกุลเงิน ทิเบตใช้เงินหยวนของประเทศจีน
- ระบบไฟฟ้าและปลั๊กไฟ ทิเบตใช้ระบบไฟฟ้า 220 โวลต์ และปลั๊กแบบขาแบน เช่นเดียวกับในประเทศไทย
- เวลา ทิเบตเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง
- การดูแลสุขภาพ ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ และกินลูกอมหรือช็อกโกแลตเพื่อเพิ่มความสดชื่นและพลังงาน หากมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ควรหยุดพักและอาจพกออกซิเจนกระป๋องติดตัวไปด้วย
- เครื่องแต่งกาย ควรเลือกเครื่องแต่งกายที่ทนแดดทนฝน กันลม และอบอุ่น รองเท้า ควรทนทาน ใส่สบาย และกันน้ำ
- แว่นกันแดดและหมวก ควรพกแว่นกันแดดและหมวกเพื่อป้องกันแสงแดดจัดในเวลากลางวัน รวมถึงทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง และลิปบาล์มเพื่อป้องกันผิวไหม้และความแห้งกร้าน
ใครที่สนใจท่องเที่ยวเส้นทางทิเบต ดินแดนหลังคาโลกที่เปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาและธรรมชาติที่ยังคงความสวยงาม ห้ามพลาด ทัวร์ทิเบต คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยยยย